วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิธีการเพาะปลาทอง

  ปลาทองจัดว่าเป็นปลาที่ดำเนินการเพาะพันธุ์ได้อย่างง่ายๆ   โดยวิธีการเพาะแบบช่วยธรรมชาติ  ปกติปลาทองจะมีการแพร่พันธุ์วางไข่ในตู้กระจกหรือบ่อที่ใช้เลี้ยงอยู่แล้ว   ซึ่งมักจะไล่ผสมพันธุ์วางไข่ในตอนเช้าของวันถัดไปหลังจากที่ผู้เลี้ยงมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ให้   แต่ที่ผู้เลี้ยงไม่พบว่ามีลูกปลาทองเกิดขึ้นในตู้เลี้ยงปลา   เนื่องจากว่าปลาทองเป็นปลาที่ไข่ทิ้งไม่มีการดูแลรักษาไข่   เมื่อวางไข่แล้วก็จะหวนกลับมากินไข่ของตัวเองอีกด้วย   นอกจากนั้นปลาทองตัวอื่นๆหรือปลาชนิดอื่นที่เลี้ยงรวมอยู่ในตู้ด้วย   ก็จะคอยเก็บกินไข่ที่ออกมาด้วย  กว่าที่ไข่ที่เหลืออยู่จะฟักตัวออกมา   ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3  วัน   ไข่ก็จะถูกปลาทยอยเก็บกินไปเกือบหมด   ส่วนไข่ที่รอดจากถูกกินจนตัวอ่อนฟักตัวออกมา   ตัวอ่อนที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ก็จะกลายเป็นอาหารที่ดีของปลาต่างๆอีก   เพราะลูกปลาจะมีขนาดพอๆกับลูกน้ำ   ทำให้ถูกจับกินไปจนหมดอย่างรวดเร็ว
                  ดังนั้นหากต้องการลูกปลาทองก็จำเป็นต้องมีการจัดการการเพาะให้ถูกต้อง   จึงจะได้ลูกปลาจำนวนมากตามต้องการ     การเพาะปลาทองจะทำได้ดี   คือ   ปลาวางไข่ง่าย   ตั้งแต่เดือนเมษายน  ถึง  เดือนกันยายน   โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
6.1 การเตรียมบ่อเพาะ   บ่อที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลาทองควรเป็นบ่อซีเมนต์   มีขนาดประมาณ  1 ตารางเมตร   ขัดล้างให้สะอาดด้วยแปรงและสบู่แล้วฉีดน้ำล้างหลายๆครั้ง   จากนั้นเตรียมน้ำใหม่ที่ระดับประมาณ  20 - 25  เซนติเมตร  นอกจากนั้นยังอาจใช้กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตรเป็นบ่อเพาะปลาทองก็ได้

    
ภาพที่ 24  แสดงลักษณะบ่อเพาะปลาทอง
6.2 การเตรียมรัง   ปลาทองเป็นปลาที่มีไข่ประเภทไข่ติด   พฤติกรรมการวางไข่นั้นปลาเพศผู้จะว่ายน้ำไล่ปลาเพศเมียไปเรื่อยๆ   ปลาเพศเมียเมื่อพร้อมจะวางไข่จะว่ายน้ำเข้าหาพรรณไม้น้ำตามริมน้ำ   แล้วปล่อยไข่ครั้งละ  10 - 20  ฟอง   ปลาเพศผู้ที่ว่ายน้ำตามมาก็จะปล่อยน้ำเชื้อตาม   ไข่จะได้รับการผสมพร้อมกันนั้นก็เกิดสารเหนียวที่เปลือกไข่   ทำให้ไข่เกาะติดอยู่ตามราก  ลำต้น  และใบของพรรณไม้น้ำ   ดังนั้นการเตรียมรังในบ่อเพาะปลาทอง  ควรเป็นรังที่ช่วยให้ไข่ติดได้ง่ายและมากที่สุด   คือต้องมีลักษณะเป็นฝอยนิ่มและค่อนข้างยาว   รังที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่รังที่ทำจากเชือกฟาง   โดยนำเชือกฟางสีใดก็ได้มาผูกเป็นกระจุก(คล้ายกับพู่ที่เชียร์ลีดเดอร์ใช้)   มีความยาวประมาณ  20  เซนติเมตร   แล้วฉีกให้เป็นฝอยโดยพยายามให้เป็นเส้นฝอยขนาดเล็กให้มากที่สุด   จากนั้นนำไปจุ่มในน้ำเดือดเพื่อให้เกิดความนุ่ม   แล้วทำกรอบไม้ (อาจใช้ท่อ เอสล่อน)ให้ลอยอยู่ผิวน้ำ   ขนาดเล็กกว่าบ่อเพาะเล็กน้อยเพื่อให้กรอบลอยอยู่บนผิวน้ำในบ่อได้ดี   นำรังมาผูกในกรอบไม้เพื่อให้รังลอยตัว   และรังจะกระจายตัวกัน   หากไม่ทำกรอบผูกรัง   รังจะถูกแรงลมที่เกิดจากเครื่องแอร์ปั๊ม   ทำให้รังลอยไปรวมเป็นกระจุกอยู่ริมบ่อ   ปลาจะวางไข่ที่รังได้ยาก   การทำให้รังกระจายตัวกัน  ช่วยให้ปลาสามารถวางไข่โดยกระจายไข่ตามรังที่จัดไว้ทุกรังได้เป็นอย่างดี
 
ภาพที่ 25  แสดงลักษณะพู่ทำจากเชือกฟางและรากผักตบชวาที่นิยมใช้เป็นรังในบ่อเพาะปลาทอง
6.3 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์   คือการเลี้ยงและคัดปลาที่พร้อมจะผสมพันธุ์จากปลาที่เลี้ยงไว้รวมกัน   โดยจะต้องเน้นเป็นปลาที่มีไข่แก่และน้ำเชื้อดี   การที่จะเลี้ยงปลาทองให้มีไข่แก่และน้ำเชื้อได้ดีนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก   จากที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงปลาที่มีคุณภาพน้ำดีกว่าการเลี้ยงปลาแบบอื่นๆ   เนื่องจากมีระบบกรองน้ำที่ดี   ในสภาพน้ำที่ค่อนข้างดีปลาจะใช้อาหารที่ได้รับไปสำหรับการเจริญเติบโต   ส่วนการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์จะเป็นไปอย่างช้าๆ   เมื่อใดที่คุณภาพน้ำเริ่มมีการสะสมของสิ่งหมักหมมต่างๆมากขึ้น   ปลาที่สมบูรณ์เพศแล้วจะเริ่มมีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์มากขึ้น   เปรียบเทียบได้กับฤดูร้อนซึ่งน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจะลดระดับลงเรื่อยๆน้ำจะมีการสะสมแร่ธาตุต่างๆมากขึ้น   ปลาจะใช้อาหารที่ได้รับเพื่อการพัฒนาระบบสืบพันธุ์   เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการแพร่พันธุ์ในฤดูฝนที่จะมาถึง   ดังนั้นการเลี้ยงปลาทองเพื่อให้ปลามีไข่แก่และน้ำเชื้อดีแทบทุกตัวพร้อมกัน   จึงต้องอาศัยการเลียนแบบธรรมชาติ  ซึ่งวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด  คือ  การปรับปรุงระบบเครื่องกรองน้ำ   โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องกรองน้ำแบบหม้อกรองในตู้  ซึ่งช่วยทำให้น้ำใสได้บ้างพอควรและเก็บตะกอนไว้ได้ด้วย   ล้างหม้อกรองประมาณ  3  วัน  ต่อครั้ง   และงดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลาหรือบ่อเลี้ยงปลาโดยเด็ดขาด   หากจำเป็นต้องเติมน้ำเนื่องจากระดับน้ำลดลง   ควรเติมในช่วงเช้า  เพราะการเติมน้ำในตอนเย็นซึ่งอุณหภูมิเริ่มลดลง   และปลาได้รับน้ำใหม่อาจมีผลกระตุ้นให้ปลาไข่แก่บางตัววางไข่ในเช้าวันถัดไปได้   พ่อแม่พันธุ์ปลาทองที่จะนำมาใช้เพาะพันธุ์ควรมีอายุประมาณ  10  เดือน   นำมาเลี้ยงรวมกันเป็นเวลาประมาณ  30 - 50  วัน  ปลาทองที่คัดมาเลี้ยงแทบทุกตัวจะมีไข่แก่และน้ำเชื้อสมบูรณ์เหมือนกันแทบทุกตัว   ทำให้สะดวกที่จะคัดไปปล่อยลงบ่อเพาะ   และควรคัดไปปล่อยเวลาประมาณ  16.00  .
                ข้อควรพิจารณาในการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง   ควรหลีกเลี่ยงปลาในครอกเดียวกันเพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด

 
ภาพที่ 26  แสดงลักษณะการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทองในถังไฟเบอร์
6.4 จำนวนปลาและสัดส่วนเพศ   การปล่อยปลาลงบ่อเพาะแต่ละบ่อควรปล่อยปลาเพียงบ่อละ  1  คู่   หรือใช้ปลาเพศเมีย  1  ตัว  กับปลาเพศผู้  2  ตัว   เนื่องจากการใช้ปลามากกว่า  1  คู่ นั้น   ในขณะที่ปลาเพศเมียตัวที่พร้อมจะวางไข่ถูกปลาเพศผู้ว่ายน้ำไล่ไปนั้น   จะถูกปลาตัวอื่นๆคอยรบกวนโดยว่ายน้ำติดตามกันไปหมดทุกตัว  เพราะปลาเหล่านั้นต้องการตามไปกินไข่ของแม่ปลาที่จะปล่อยออกมา   การปล่อยปลาหลายคู่จึงกลับกลายเป็นข้อเสีย   ดังนั้นการปล่อยปลาเพียงบ่อละคู่จะทำให้ไข่มีอัตราการผสมค่อนข้างดี   และได้จำนวนมาก  

 
ภาพที่ 27  ลักษณะของพ่อแม่ปลาทองที่คัดปล่อยลงบ่อเพาะ
6.5 การเพิ่มน้ำและลม   หากต้องการให้ปลาได้รับการกระตุ้นและเกิดการวางไข่อย่างแน่นอน   ควรจะมีการให้ลมเพื่อให้น้ำเกิดการหมุนเวียนแรงพอสมควร   นอกจากนั้นถ้าหากสามารถทำให้เกิดกระแสน้ำ   หรือทำให้เกิดฝนเทียม   ก็จะทำให้ปลาวางไข่ได้ง่ายขึ้น   ฉนั้นบ่อเพาะที่ดีจะต้องมีระบบน้ำล้นที่ดีด้วย
6.6 การวางไข่ของปลา   ถ้าหากคัดปลาได้ดี  คือ  ปลามีไข่แก่และน้ำเชื้อดี   ปลาจะผสมพันธุ์วางไข่ตอนรุ่งเช้าของวันถัดไป   หากปลายังไม่วางไข่จะปล่อยพ่อแม่ปลาไว้อีก  1  คืน   แต่ถ้าเช้าวันถัดไปปลาก็ยังไม่วางไข่  แสดงว่าผู้เพาะคัดปลาไม่ถูกต้อง   คือปลาเพศเมียที่คัดมาเพาะมีรังไข่ยังไม่แก่จัดพอที่จะวางไข่ได้   จะต้องปล่อยพ่อแม่ปลาที่คัดมาเพาะกลับคืนลงบ่อเลี้ยง   แต่ถ้าปลาวางไข่จะสังเกตได้ว่าน้ำในบ่อเพาะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป   โดยมักจะเกิดเมือกเป็นฟองตามผิวน้ำและรัง   เมื่อพิจารณาที่รังจะเห็นว่ามีไข่ปลาทอง   มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆสีเหลืองอ่อนค่อนข้างใส   เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  1  มิลลิเมตรติดอยู่ตามเส้นเชือกภายในรัง   เม็ดไข่ที่ดูใสนี้แสดงว่าเป็นไข่ที่ได้รับการผสมหรือไข่ดี   และจะมีเม็ดไข่ที่สีขุ่นขาวซึ่งเป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมหรือเป็นไข่เสีย

ภาพที่ 28  แสดงลักษณะไข่ปลาทองที่ติดอยู่ที่รากผักตบชวา      
                                                         ไข่ดีจะใส ส่วนไข่เสียจะสีขุ่นขาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น