วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การอนุบาลลูกปลาทอง

   บ่อที่จะใช้สำหรับอนุบาลลูกปลาทองควรเป็นบ่อซีเมนต์   ขนาด  4 - 10  ตารางเมตร   มีความลึกประมาณ  40 - 50  เซนติเมตร   เป็นบ่อที่สามารถถ่ายเทน้ำได้อย่างดี   โดยเฉพาะถ้าสามารถปรับระบบน้ำไหลได้จะทำให้ลูกปลามีความแข็งแรงมาก   เจริญเติบโตรวดเร็วและมีอัตรารอดดี   เพราะการระบายน้ำจะช่วยระบายของเสียหรือสิ่งขับถ่ายของลูกปลาออกไปได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกปลาเติบโตเร็วก็คือ   การระบายน้ำและการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำทุกวัน 
                การเลี้ยงลูกปลาทองหรือการอนุบาลจำเป็นต้องอาศัยสังเกตุเป็นหลัก   การจะกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนกระทำได้ยาก   เริ่มจากลูกปลาที่ฟักออกจากไข่   ในช่วงแรกจะมีถุงอาหาร (Yolk  Sac) ติดอยู่ที่หน้าท้อง   ลูกปลาจะยังไม่กินอาหาร   สังเกตุได้จากการที่ลูกปลาจะเกาะอยู่ที่รังหรือผนังบ่อ   เมื่อลูกปลาใช้อาหารจากถุงอาหารหมดแล้ว   ลูกปลาจึงจะว่ายน้ำตามแนวระดับไปเรื่อยๆเพื่อหาอาหารกิน   ควรดำเนินการให้อาหารดังนี้
8.1 ช่วงแรก   เนื่องจากปลาทองเป็นปลาที่กินอาหารได้แทบทุกชนิด   จัดว่าเป็นปลาที่กินอาหารได้ง่าย    จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาหารที่มีชีวิตในการอนุบาลลูกปลาทอง   การอนุบาลลูกปลาทองเลือกใช้อาหารได้ดังนี้
               ไข่ต้ม   ใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดต้มสุก   แล้วเอาเฉพาะไข่แดงไปขยี้น้ำผ่านผ้าไนล่อนหรือกระชอน  จะได้น้ำไข่แดงเหมือนน้ำตะกอน  นำไปสาดให้ปลากิน   ควรใช้ไข่แดงเลี้ยงลูกปลาเป็นเวลา  3  วัน   ลูกปลาจะเคยชินกับการกินอาหารและกินอาหารเก่ง   ขนาดของลูกปลาก็จะโตขึ้นอย่างเด่นชัด
    
ภาพที่ 30  ลักษณะของลูกปลาทองที่ยังไม่ได้กินอาหาร (ซ้าย)
                                              กับที่ได้กินไข่ต้มแล้วที่ส่วนท้องจะมีสีขาว (ขวา)  

  
ภาพที่ 31  แสดงการใช้ไข่แดง
ขยี้ผ่านผ้าขาวบางเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงลูกปลาทอง  
                 อาหารผง   ใช้อาหารผงอนุบาลลูกปลาดุก   ใช้ให้ต่อจากการใช้ไข่ต้มได้เลย   โดยในช่วงแรกควรให้โดยโปรยลงบนผิวน้ำ   อาหารจะค่อยๆจมตัวลง   เลี้ยงต่อไปอีกประมาณ  5  วัน  จากนั้นควรเปลี่ยนวิธีให้จากการโปรยอาหารลงผิวน้ำ   เป็นนำอาหารผงมาคลุกน้ำพอหมาดๆ   อาหารพวกนี้จะมีคุณสมบัติในการปั้นก้อนได้ดี   แล้วจึงนำไปให้ปลา   ลูกปลาก็จะมาตอดกินอาหารได้เอง
                สำหรับในเรื่องของปริมาณอาหารที่จะให้ปลานั้น   เนื่องจากลูกปลามีขนาดเล็กมากการกำหนดปริมาณอาหารเป็นจำนวนตายตัวนั้นค่อนข้างยาก   เช่นการใช้ไข่แดง   ปริมาณที่จะให้แต่ละมื้อจะใช้ประมาณเท่าเมล็ดถั่วแดงต่อลูกปลาที่เกิดจากแม่ปลา  1  แม่  ผู้เลี้ยงต้องอาศัยการสังเกตและการเอาใจใส่ค่อนข้างมาก  การให้อาหารมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย   ลูกปลาจะยิ่งเติบโตช้าและมักจะติดเชื้อเกิดโรคระบาดตายเกือบหมด   แต่ถ้าน้อยเกินไปลูกปลาก็จะโตช้าและมักจะมีขนาดแตกต่างกันอย่างมาก   โดยจะมีลูกปลาขนาดโตไม่กี่ตัว   วิธีการกะปริมาณอาหารที่ดีคือ   ผู้เลี้ยงจะต้องดูจากตัวลูกปลาภายหลังจากที่ให้อาหารไปแล้วประมาณ  15 - 20  นาที   ใช้แก้วน้ำตักลูกปลาขึ้นมาดู   ถ้าเป็นช่วงที่ให้ไข่แดงเป็นอาหาร   จะเห็นว่าที่บริเวณท้องของลูกปลาจะมีสีขาว   ถ้าเป็นอาหารผงท้องจะเป็นแนวดำ   ดังนั้นถ้าเห็นว่าลูกปลาทุกตัวมีอาหารที่บริเวณท้องเป็นแนวยาวตลอด   ก็แสดงว่าอาหารพอ   แต่ถ้าเห็นว่าลูกปลาบางส่วนมีอาหารที่ท้องอยู่น้อยก็แสดงว่าอาหารไม่เพียงพอ   ควรให้อาหารเพิ่มอีก
                หมายเหตุ   ช่วงนี้ควรให้อาหารวันละ  3  ครั้ง  คือ  เช้า   กลางวัน  และเย็น
8.2 ช่วงหลัง   ถึงแม้ลูกปลาจะกินอาหารผงได้ดี   แต่อาหารผงก็มีข้อเสียที่มักมีการแตกตัวและกระจายตัวได้ง่าย   ซึ่งเป็นบ่อเกิดของน้ำเสีย   ดังนั้นเมื่ออนุบาลลูกปลาในช่วงแรกด้วยไข่และอาหารผง   เป็นเวลาประมาณ  15  วัน   ก็ควรจะเปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำโดยใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงลูกปลาดุกเล็กระยะแรก   ให้ลูกปลาได้เลยจะเห็นว่าอาหารจะลอยตัวอยู่ผิวน้ำ   จากนั้นประมาณ  15 - 20  นาที อาหารจะพองขยายตัวขึ้นและนิ่ม   ในวันแรกลูกปลาจะยังไม่เคยชินกับอาหารลอยน้ำ   ฉนั้นให้ใช้นิ้วบีบอาหารที่ลอยอยู่บางส่วนให้จมตัวลง  และมีอาหารลอยน้ำเหลืออยู่บ้าง   ทำเช่นนี้ประมาณ  3  วัน ลูกปลาจะเคยชินกับการกินอาหารเม็ดลอยน้ำได้ดี     
            ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญ  คือ  การทำความสะอาดบ่ออนุบาล   โดยเฉพาะในการอนุบาลช่วงแรก   ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไข่แดงหรืออาหารผงให้เป็นอาหารลูกปลา   ทั้งไข่แดงและอาหารผงจะเหลือตกตะกอนเป็นเมือกอยู่ที่พื้นก้นบ่อเป็นประจำทุกวัน   ดังนั้นหลังจากให้อาหารเช้าแล้วประมาณ  1  ชั่วโมง   ควรทำความสะอาดผนังและพื้นก้นบ่อ   โดยใช้ฟองน้ำค่อยๆลูบไปตามผนังและพื้นก้นบ่อให้ทั่ว  ถ้าเป็นบ่อที่มีระบบกรองที่ดี  ตะกอนเมือกที่ถูกขัดออกมาก็จะถูกขจัดออกได้โดยง่าย  
ภาพที่ 32  แสดงลักษณะของบ่ออนุบาลลูกปลาทองที่เหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น